ว่ากันด้วยหัวข้อที่ว่า “สัมภาษณ์อย่างไรให้ได้งาน” นั่นสินะจะสัมภาษณ์ยังไงดี จะตอบคำถามยังไงให้โดนใจผู้สัมภาษณ์ดี จะทำยังไงให้ผู้สัมภาษณ์ชอบเราดีนะ?? เป็นคำถามโลกแตกของผู้สมัครซึ่งไม่เคยรู้จักผู้สัมภาษณ์เลยมาก่อนในชีวิต แต่ต้องมาคุยกันมาสร้างความประทับใจให้กับเค้า ทำให้เค้าเชื่อ และยอมรับในศักยภาพของตัวเรา เพื่อให้เราได้งานที่ใฝ่ฝัน ช่างเป็นเรื่องยากเหลือเกินจริงๆ อย่าเพิ่งวิตกกังวลไปคะ
เริ่มต้นที่กำหนดความคิดของตัวเองก่อน เราต้องมีความกล้า ความมั่นใจในความสามารถของตัวเราเองก่อน เราสามารถทำได้ อย่างที่เคยได้เกริ่นไปแล้วในบทความเรื่อง “ 4 กระบวนท่าการเตรียมตัวคุณ เพื่อการหางานให้ได้งาน ”
ก่อนจะเข้าสู่ด่านการสัมภาษณ์ต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านข้อมูลสามด้านหลักๆไม่ว่าจะเป็น
- ข้อมูลพื้นฐานของบริษัท
- ข้อมูลลักษณะงานของตำแหน่งงานที่สมัคร และที่ขาดไม่ได้เลยคือ
- ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเอง และองค์กรประกอบภายนอกด้านบุคลิกภาพ การแต่งกาย การทักทาย อัธยาศัยไมตรีซึ่งเป็นปัจจัยประกอบกันในการสร้างความประทับใจให้กับผู้สัมภาษณ์
ทำไมเราต้องมาคุยเรื่องการสัมภาษณ์เพราะการสัมภาษณ์เป็นอีกเครื่องมือที่จะทำให้ผู้สัมภาษณ์ เจ้าหน้าที่สรรหามีความเข้าใจในตัวผู้สมัครเพิ่มมากขึ้น ก็เหมือนกับเราทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่แหละนะ การพูดคุยกันจะเป็นการสร้างเสริมสัมพันธภาพให้รู้จักและเข้าใจกันมากขึ้นคะ ซึ่งในแง่ของการคัดเลือกการสัมภาษณ์ก็คืออีกหนึ่งเครื่องมือการคัดเลือกผู้สมัครนั่นเอง ดังนั้นมาเข้าเรื่องกันต่อดีกว่าการเตรียมตัวก่อนการสัมภาษณ์จะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
ส่วนที่ 1 การเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท
ทำไมต้องรู้ข้อมูลบริษัทหละ อย่างน้อยเป็นการแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจ ความสนใจในบริษัทที่เรากำลังจะเข้าไปทำงาน รู้เขารู้เรารบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง นะคะ อย่างน้อยเป็นข้อมูลที่จะสร้างความประทับใจให้กับผู้สัมภาษณ์ได้ดีทีเดียว ลองคิดดูนะคะถ้าเราไม่ทำการบ้านสักเล็กน้อย ตอนสัมภาษณ์ถ้ามีการถามเกี่ยวกับบริษัทบอกไม่รู้อะไรเลย เห็นเปิดตรง ก็ลองสมัครงาน ถ้าเราเป็นผู้สัมภาษณ์คงรู้สึกว่าเอ๊ะ ผู้สมัครเค้าสนใจบริษัทเราจริงๆหรือเปล่านะ ทำความเข้าใจด้วยว่าบริษัททำเกี่ยวกับอะไร มีลักษณะแนวธุรกิจเป็นแบบไหน จะช่วยให้เราสามารถพรีเซ้นต์ (Present) หรือเสนอตัวเราได้สอดคล้องกับแนวทางบริษัทได้เป็นอย่างดี
ส่วนที่ 2 ข้อมูลลักษณะงานตามตำแหน่ง
ที่เราควรต้องรู้ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะงานด้วย เพราะจะช่วยเป็นข้อมูลให้เราสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์เราให้เข้ากับลักษณะงานที่เปิดรับ โดยการหยิบยกตัวอย่างประสบการณ์การทำงานไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ตรงหรือประสบการณ์อ้อม เพื่อให้ผู้สัมภาษณ์ได้เห็นภาพของผู้สมัครได้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งตำแหน่งงานที่เปิดในท้องตลาดอาจมีความคล้ายคลึงกันในแง่ของชื่อตำแหน่ง แต่ลักษณะงาน
รายละเอียดของงานที่ระบุในประกาศนั้นเป็นโจทย์ที่ผู้สมัครจะต้องทำความเข้าใจและตีโจทย์ให้แตกว่าตำแหน่งนั้นๆมีคุณสมบัติและต้องการคนไปทำงานอะไรแบบไหน เพราะตำแหน่งต่างๆเกิดขึ้นมาก็เพื่อตอบสนองความต้องการของแต่ละองค์กรที่แตกต่างกันออกไปนะ อ่านให้ดีและตีให้แตก ท่านจะสามารถนำเสนอตัวเองได้อย่างดีเยี่ยมเลยทีเดียว
ส่วนที่ 3 ข้อมูลของตัวเอง
เพราะมันเกี่ยวเนื่องกับส่วนที่สองโดยตรง ดังนั้นข้อมูลของตัวเองที่ว่าก็คือข้อมูลความรู้ ทักษะ ความสามารถหลัก ความสามารถรอง คุณสมบัติพิเศษต่างๆที่บอกว่าเรานี่แหละเหมาะกับตำแหน่งนี้เป็นที่สุด ยกตัวอย่างความสำเร็จในงานหรือโปรเจคเก๋ ยิ่งเสริมความมั่นใจว่าชั้นนี่แหละคือคนที่ใช่
เรามีข้อมูลครบสามด้านกันแล้วพร้อมจะเดินเข้าห้องสัมภาษณ์กันหรือยังคะ ต้องพร้อมนะเราก้าวมาขนาดนี้แล้วเมื่อเข้าสู่ห้องสัมภาษณ์มันช่างดูน่ากลัว และเยือกเย็น สลัดมันออกไปคะคิดซะว่าก้าวขึ้นเวที ก้อตทาเลนท์ (Got Talent) เพื่อเรามีดี เราเจ๋งโชว์ความสามารถของเราแล้วทำให้เต็มที่ไม่มีคำว่าเสียใจแน่นอน อย่างไรก็ตามผู้สัมภาษณ์ก็มีมากมายหลายแบบเรากำลังเผชิญหน้ากับบุคคลที่ไม่รู้จักมาก่อนแต่มีอำนาจตัดสินชะตาชีวิตเลือกเราเข้าทำงานนี่นา บางคนดูโหด บางคนดูใจดี อย่าเพิ่งตัดสินนะคะฟังให้มาก พูดให้พอเหมาะคะ
ลองสังเกตพิจารณาวิธีการตั้งคำถาม ลักษณะการพูดคุยของผู้สัมภาษณ์ระหว่างการสัมภาษณ์เพื่อประเมินลักษณะของผู้สัมภาษณ์จะช่วยให้เราตอบคำถามได้โดนใจผู้สัมภาษณ์และการตอบคำถามให้ตรงประเด็น มีเป้าหมายที่ชัดเจนก็สามารถครองใจผู้สัมภาษณ์ได้อยู่หมัด ห้องสัมภาษณ์ไม่ใช่ห้องตัดสินชะตาชีวิตนะคะ
แต่ห้องสัมภาษณ์คือห้องที่เปิดโอกาสให้คนที่ไม่รู้จักกันได้มาทำความรู้จักกัน เราทุกคนต่างฝ่ายต่างมีสิทธิเลือกกันและกัน รู้จักการเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อไปคะ บุคลิกภาพการแต่งตัว การกล่าวสวัสดีทักทาย และการยิ้มแย้มก็เป็นอีกส่วนของการสร้างความประทับใจนะคะ คนไทยมียิ้มสยามเป็นอาวุธ ใช้ให้เต็มที่คะเพื่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน
ระหว่างการพูดคุยตอบคำถาม เมื่อไม่เข้าใจในคำถามไม่ต้องกังวลคะว่าการทวนคำถามหรือขอคำอธิบายข้อคำถามจะเป็นการดิสเครดิตตัวเอง การตอบแบบมั่วๆต่างหากที่เป็นการดิสเครดิตตัวเอง ตอบคำถามให้ตรงเป้าสำคัญมากชี้ให้เห็นถึงคำตอบ ผลลัพธ์ของการกระทำ และถ้ายิ่งสามารถยกตัวอย่างให้ผู้สัมภาษณ์ได้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งทำให้ผู้สัมภาษณ์รู้สึกได้เลยว่านี่แหละของจริง
อีกเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เลยเรื่องภาษาอังกฤษ (นอกจากทักษะด้านภาษา แล้วยังมีอีก 4 ทักษะ ที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คลิกเลย เพื่ออ่านรายละเอียด) ยิ่งประกอบกับตอนนี้เปิด AEC กันแล้ว ภาษาอังกฤษจะมีบทบาทมากขึ้นที่จะเป็นสื่อกลางในการสื่อสารกับเพื่อนบ้านนะคะ อย่าอายที่จะพูดคะ ถ้าไม่มั่นใจบอกผู้สัมภาษณ์ไปตามตรงว่าตรงนี้เราไม่สามารถอธิบายเป็นภาษาอังกฤษได้ ขออนุญาตอธิบายเป็นภาษาไทย ไม่น่าอายไม่เสียหายเลยคะ แต่ทำให้รู้ว่าผู้สมัครท่านนี้มีความพยายามนะ
รู้จังหวะและกาลเทศะในการสอบถามจะทำให้ท่านดูน่าเชื่อถือและน่าชื่นชม เมื่อผู้สัมภาษณ์เปิดโอกาสให้ถามเลือกคำถามที่เหมาะสมและเป็นฐานข้อมูลที่จำเป็นสำหรับประกอบการตัดสินใจเลือกทำงานของท่านเอง การตั้งคำถามก็เป็นตัวสะท้อนถึงความสนใจเบื้องหลังของผู้สมัครในอีกทางหนึ่งเช่นกัน เมื่อจบการสัมภาษณ์แล้วอย่าลืมไหว้ กล่าวคำขอบคุณสำหรับโอกาสที่ให้เข้ามาสัมภาษณ์ จะเป็นการปิดท้ายที่สวยงามและสร้างความประทับจนถึงตอนสุดท้าย ให้รู้สึกกันไปเลยว่าน่าเสียดายถ้าไม่ได้เราร่วมงานน้า
ทิ้งท้ายความรู้สึกของผู้รับการสัมภาษณ์ซักหน่อยยังไงมันก้อประหม่าเนอะ ถึงจะผ่านสนามมามากยังไงก็ยังกลัวอยู่ดีไม่เป็นไรคะ สูดหายใจเข้าลึกๆปล่อยออกมาแล้วท่องไว้ว่าสู้ ทำให้ดีที่สุดแล้วจะไม่เสียใจถึงผลลัพธ์ที่จะตามมาคะ