รูปภาพหางาน (job search)

หลายคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่าอยากหางาน ทำงานที่ได้เงินเดือนสูง ๆ ค่าตัวแพง ๆ มีสวัสดิการดี ๆ ที่ดูแลตนเองและครอบครัวได้ คราวนี้วิธีการที่ได้มาซึ่งค่าตัวแพง ๆ นั้นเราจะต้องเป็นคนทำงานอย่างไร ในตลาดแรงงานในประเทศไทยและต่างประเทศยังมีช่องทางที่เราสามารถที่จะสร้างพื้นฐาน และสามารถไดรับเงินเดือนสูงได้ตามที่เราต้องการได้อยู่เหมือนกัน

 

คราวนี้เราคงต้องกลับมาถามตัวเราเองก่อนว่าเราคือคนทำงานแบบไหน เช่น

 

  • ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม คือ คนทำงานที่มาทำงานเข้างานและเลิกงานตรงเวลา พร้อมประสิทธิภาพการทำงานที่ไม่สามารถคาดหวังได้ว่าจะเป็นอย่างไร คือ คนที่ชอบทำงานตามเวลาบริษัท เข้าแปดโมงเช้าเป๊ะ เลิกงานห้าโมงเย็นเป๊ะ ประสิทธิภาพของการทำงานขึ้นอยู่กับอารมณ์ว่าวันนี้อารมณ์ดีหรือไม่ดี วันไหนอารมณ์ดีก็ทำงานได้ดีเริ่มมีผลของงานบ้าง วันไหนอารมณ์ไม่ดี ทะเลาะกับแฟน เพื่อน หมาข้างบ้าน ก็ไม่อยากทำงานซะงั้น มาทำงานแบบซังกะตาย หัวหน้าสั่งงานอะไร ก็ไม่อยากทำ ..มันไม่มีอารมณ์อะพี่..นี่คือคำตอบ
  • ถ้าลูกค้าเค้ารอเราได้แบบมีอารมณ์คล้าย ๆ กับเราก็คงดี แต่ชีวิตจริงในธุรกิจมันไม่ใช่ เพียงแค่เราช้าไปเสี้ยววินาที บางทีธุรกิจก็หลุดลอยไปยังคู่แข่งเรียบร้อยแล้ว ถ้าเราทำงานแบบนี้ เราต้องถามตัวเองก่อน ว่าเราสามารถเรียกค่าตัวแพง ๆ เงินเดือนสูง ๆ ได้ด้วยวิธีการอย่างไร เรามีความรู้ ประสบการณ์ ทักษะ หรือการตกผลึกทางความคิดหรือผลงานอะไรไปขายให้บริษัทจ่ายค่าตัวสูง ๆ ให้เราได้
  • ทำงานแบบขยันแต่ไร้กลยุทธ์ ทำโอทีกลับดึกทุกวัน แต่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานคืออะไรนะ ทำงานยุ่งทั้งวันหัวเป็นเกลียวตัวเป็นน๊อต แต่ไม่มีผลลัพธ์ของงานออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน โทษฟ้าโทษฝน โทษคนโน้นคนนั้นคนนี้ โทษไปหมดยกเว้นโทษตัวเอง จริง ๆ แล้วการเป็นคนขยันนะดี แต่ขยันผิดวิธีจะทำให้เราได้รับโอกาสในการเรียกค่าตัวแพง ๆ ได้หรือเปล่า อันนี้เราก็ต้องลองตรองดูด้วยตัวเรา การทำงานนั้นต้องมีการวางกลยุทธ์ (Strategy) ในการทำงานของเราได้ด้วย และเราต้องรู้หลักของทฤษฏีพาเรโต (Pareto) ที่ว่าด้วยเรื่อง 20:80 คือ การค้นหาว่าการทำงานที่สำคัญเพียง 20% ที่มีส่งผลกระทบกับงานของเราสูงถึง 80% คืออะไร เรากำลังทำงานที่เป็น สิ่งที่สำคัญหรือที่เป็นงานอย่างมีนัยสำคัญ (Significant)
  • สำหรับบทบาทและหน้าที่ของเราที่บริษัท หรือ องค์กร เค้าคาดหวังอยู่หรือเปล่า หรือเรากำลังตบแมงหวี่ทั้งวัน ในขณะที่เค้าต้องการให้จับช้างเพียงตัวเดียว ถ้าเรามองตรงนี้ไม่ออก และไม่พยายามฝึกมองการทำงานอย่างมีนัยสำคัญของงานที่เราทำ จะทำให้เราเสียเวลาและเสียโอกาส สุดท้ายเวลาผ่านไปเราก็คงเพียงรู้จักแต่แมงหวี่ ซึ่งในตลาดแรงงานเค้าไม่ต้องการ เพราะตลาดต้องการช้าง
  • ทำงานแบบมืออาชีพ คือ ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายอย่างสำเร็จตามเวลาที่กำหนดไว้ (Result Orientation) มีความรู้ความเข้าใจในงานที่ตนเองทำ (Expertise) มีการบริหารจัดการด้านตารางเวลาการทำงาน (Time Management) มีการวางแผนการทำงานอย่างมีระบบ (Plan, DO, Check, Act : PDCA) รวมถึงมีการวางกลยุทธ์การทำงานตามหลักการของทฤษฎีพาเรเต (Pareto) คนทำงานแบบมืออาชีพจะบริหารเวลาให้ตัวเองทำงานกลับบ้านกี่โมงก็ได้ จะลาวันไหนก็ได้ จะหยุดวันไหนก็ไม่มีปัญหา
  • มีการทำงานที่มี DIKW คือ มี Data base ที่ไม่อยู่คนอื่นก็สามารถเข้าไปดูงานของตนเองหรือข้อมูลของตนเองได้อย่างไม่เสียเวลา, เป็นคนที่สามารถทอดข้อมูลให้คนอื่นได้ หรือ มีแบบแผนของข้อมูลที่ทำให้เป็น ข่าวสาร / Information ให้ใคร ๆ เข้ามาอ่าน มาแชร์เป็นความรู้ได้, มีความเข้าใจ Knowledge ในสิ่งที่ตัวเองรับผิดชอบ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลเห็นเป็นภาพใหญ่ (Big Picture) ที่สามารถต่อกันติดเป็นภาพเดียว มีความรู้ที่ตกผลึกได้ด้วยตนเองจนทำให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง (Understanding) ในสิ่งที่ตนเองกำลังทำหรือกำลังสื่อให้คนอื่นรับทราบ สุดท้ายกลายเป็นปัญญา / Wisdom ของตัวเองที่สามารถแก้ไขปัญหา ปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในงานของตัวเองที่ทำ กลายเป็นมรดกทางผลงานหรือความคิดของตนเอง (Legacy) ให้กับคนรุ่นถัดไป

 

สรุปบนเส้นทางของการเป็นนักทำงานมืออาชีพเพื่อหางานที่ทำให้เราได้รับค่าตอบแทนสูง ๆ เรียกค่าตัวแพง ๆ ได้นั้น เราต้องทำงานแบบมืออาชีพ เราถึงจะมั่นใจในศักยภาพ (Competency) ของตนเองว่าด้วยความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skills) ประสบการณ์ (Experience) และผลงาน (Performance) ในอดีตของเรานั้นจะสามารถการันตีว่าบริษัท หรือ องค์กรที่เรากำลังไปสมัครงานนั้นเค้ายอมจ่ายเพราะต้องการผลที่เราจะทำให้เค้า (Contribution) ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและคุ้มกับค่าตัวที่เค้าจ่ายเรา

 

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราสมัครงานในตำแหน่ง ผู้จัดการฝ่ายผลิต ซึ่งเราสามารถเรียกค่าตัวได้แพงเท่าไหร่ก็ได้ ถ้าเราสามารถบอกเค้าได้ว่า พอเราเข้าไปทำงาน เปอร์เซ็นต์ของของกระบวนการจะลดลงจากเดิม90% หรือ เป็น 0% เพราะถ้าเราเอาต้นทุนของชิ้นงานที่เค้าผลิตมาคูณจำนวนชิ้นงานที่เสีย รวมถึงค่าแรงงาน ค่าเสื่อมของเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงค่าเสียเวลาในสั่งวัตถุดิบใหม่ การขนส่ง ความเสียงจากการส่งงานให้ลูกค้าไม่ทัน แล้วคำนวณออกมาเป็นตัวเงิน ก็จะยิ่งทำให้เรามีอำนาจในการต่อรองในการเรียกค่าตัวแพง ๆ หรือ สูง ๆ ได้

 

ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ “ตัวเรา” มีศักยภาพไหมในการที่องค์กร หรือ บริษัท นั้น ๆ จะยอมจ่ายให้เรา ความคุ้มทุนของค่าตัวเรา กับ ผลลัพธ์ ของงานที่เราทำออกมา อันไหนคุ้มกว่า อันไหนชัดกว่า ก็ไม่ยากที่เราจะได้รับเงินเดือนและสวัสดิการสูงตามที่เราต้องการ...ขอให้โชคดีอย่างที่ต้องการทุกคนนะคะ

  •