หางานให้ได้งาน ได้อย่างไร

หากเราดูจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ทำการสำรวจในเดือนพฤษภาคม 2559 ผลปรากฏว่า ในตลาดประเทศไทยมีกำลังแรงงานประมาณ 37.77 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 36.81 ล้านคน และมีผู้ว่างงานจำนวน 4.53 แสนคนหรือคิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.2 (ที่มา http://lmi.doe.go.th/index.php/2012-07-22-09-50-12/534-unemployment-0759) ถามว่ามากไปหรือน้อยไปไหม ก็ต้องตอบว่าเทียบกับใคร ถ้าเทียบกับอัตราการว่างงานของประเทศเกาหลีที่มีอัตราการว่างงานที่สูงถึง 3.5 ก็ถือว่าประเทศเรามีอัตราการว่างงานที่ต่ำ

 

ถ้าดูแบบผิวเผินเราก็สามารถประเมินได้ว่าความต้องการแรงงานในตลาดอาจจะหาบุคลากรยากในการเข้าไปทำงาน แต่ในความเป็นจริงของระบบการทำงานในภาคหน่วยงานเอกชลแล้ว หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะเวลาที่บริษัทหรือหน่วยงานเปิดรับสมัครพนักงานในตำแหน่งงานว่างตำแหน่งหนึ่งจะมีคนมาสมัครเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งพนักงานธรรมดาหรือตำแหน่งระดับหัวหน้างาน โดยเฉพาะตำแหน่งโอเปเรเตอร์ หรือ Worker ในโรงงานนั้น จะมีผู้สมัครมารอสมัครเยอะมาก ทำให้เกิดความไม่แน่ใจในตัวเลขจากสถิติเท่าไหร่ นี่ยังไม่นับรวมแรงงานจากต่างประเทศที่ทะลักเข้ามาทำงานในประเทศเราหลังจากเปิด AEC

 

ดังนั้นคู่แข่งในการหางานของเรานั้นอาจจะยังมีอยู่และมีเยอะด้วย แต่อย่างไรก็ตามคู่แข่งภายนอกไม่สำคัญเท่าคู่แข่งภายในนั่นก็คือตัวของเราเอง ที่เราต้องแข่งขันกับตัวเองว่าจะทำอย่างไรให้เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่ดีขึ้น ครบถ้วนตามความต้องการของตลาดแรงงานหรือตำแหน่งงานนั้น ๆ ที่บริษัทหรือหน่วยงานหรือองค์กรนั้นกำลังรับสมัครงานอยู่ ถ้าเราเคยเป็นผู้มีประสบการณ์ในการหางานมาแล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการได้งานทำตามที่ตนเองต้องการนั้น เราจะต้องกลับมาทบทวนตนเองก่อนว่าอะไรเป็นสาเหตุทำให้เราไม่เป็นผู้ที่ถูกคัดเลือกจากบริษัทหรือหน่วยงานนั้น ๆ

 

ตามทฤษฎีของการพัฒนาตนเองนั้นมีมากมายหลากหลายทฤษฎีแต่วันนี้จะยกตัวอย่างแค่ทฤษฎีเดียวคือ การพัฒนาตน หรือการปรับปรุงตนเอง ตามหลักการจิตวิทยาปัญญานิยม และอธิบายเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเราผู้ซึ่งต้องการพัฒนาตนเองเพื่อให้ได้งานตามที่เราต้องการ โดยแนวคิดของทฤษฎีนี้มีความเชื่อว่าการเรียนรู้ พฤติกรรมส่วนใหญ่เกิดจาก การเรียนรู้โดยการสังเกต (observational learning) เป็นการสังเกตจากตัวแบบ หรือ ต้นแบบนั่นเอง ถ้าเราลองพิจารณาว่าการเรียนรู้โดยการสังเกตจากตัวแบบ ประกอบด้วย 4 กระบวนการ คือ

 

1. กระบวนการตั้งใจ (attention)

สิ่งที่เราต้องเตรียมในกระบวนการแรกคือ หาบุคคลต้นแบบที่เราต้องการและสนใจชื่นชม ใครคือคนที่เรามองว่าเป็นคนทำงานมืออาชีพโดยคาเรคเตอร์ ความรู้ ความสามารถ บุคลิกภาพ การวางตัว ท่าทาง การพูดจา การสื่อสารการอธิบายหรือโน้มน้าวคนอื่น รวมถึงประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานที่ทำ ซึ่งเราอยากให้เค้าเป็นต้นแบบหรือ Role Model เพื่อที่จะโคลนหรือทำความเข้าใจในตัวเค้า ว่าเค้ามีอะไรดีที่เราต้องสังเกตุพฤติกรรมของเค้า แล้วจดบันทึกเป็นข้อ ๆ เพื่อจะได้นำมาเปรียบเทียบกับตัวเราปัจจุบัน

 

เพื่อหาช่องว่างหรือ Gap เพื่อพัฒนาตนเองในลำดับถัดไป สิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจ คือ การยอมรับในความรู้ ความสามารถของตนเอง ถ้าเรามองตัวเองไม่ออก มองไม่ขาด ก็อาจจะทำให้เราหลงทางก็ได้ สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องมีคือการเคารพตนเอง และประเมินตนเองอย่างตามความเป็นจริง เพราะในกระบวนการนี้เราไม่ได้ต้องการแข่งกับใครในความสามารถที่เรามี เราหาต้นแบบเพื่อที่เราจะได้มีหนทาง หรือ Road Map ในการพัฒนาตนเองได้ชัดขึ้นแค่นั้นเอง

 

2. กระบวนการเก็บจำ (retention)

เมื่อเราหาค้นต้นแบบได้แล้ว สิ่งที่เราต้องทำในกระบวนการเก็บจำคือ การเก็บข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ที่คนต้นแบบทำ แล้วแปลงเป็นสัญลักษณ์ทางภาพหรือทางภาษาเพื่อลอกเลียนแบบพฤติกรรมดังกล่าว เราต้องมีกระบวนการในการจำและนำไปใช้ ดังนั้นสิ่งที่ต้องการจะบอกคือ ความจำที่เกิดจากความเข้าใจในพฤติกรรมนั้น ๆ ที่เราต้องการที่จะเลียนแบบคือสิ่งที่สำคัญที่สุด เพียงแค่จำแล้วทำแค่นั้นไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ เลย เราต้องจำและเก็บข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ถึงที่มาของพฤติกรรมนั้น

 

สาเหตุที่เป็นผลของพฤติกรรมที่เราต้องการ เช่น คนต้นแบบของเราเป็นคนที่พูดแล้วมีพลัง มีจังหวะจะโคน พูดแล้วน่าเชื่อถือ การพูดเป็นโครงสร้างมีตัวเลขที่การยกตัวอย่างที่ชัดเจน สิ่งที่เราต้องทำคือการสังเกตุและจำวิธีการพูดของเค้า แล้วมาค้นหาว่าการที่คนต้นแบบพูดแบบนั้นมันทำให้ผู้ฟังหรือแม้นกระทั่งตัวเราเองนั้นจมลงไปอยู่ในโลกของเค้า เชื่อในสิ่งที่เค้าพูดจากน้ำเสียงที่ดูหนักแน่น จริงใจ มีจังหวะ ไม่ช้า ไม่เร็ว ไม่โมโนโทน มีการยกตัวอย่างอ้างอิงมีที่มา เป็นต้น ซึ่งการลักษณะการพูดแบบนี้จะมีผลเป็นอย่างมากในช่วงของกระบวนการสัมภาษณ์งาน

 

3. กระบวนการกระทำ (reproduction)

เมื่อได้พฤติกรรมคนต้นแบบ มีการสังเกตุพฤติกรรมที่ต้องการเก็บรายละเอียดเข้าใจความเป็นมาแล้วคราวนี้ก็เป็นช่วงของกระบวนการที่สำคัญคือการกระทำหรือการลงมือทำนั่นเอง ช่วงแรก ๆ เราเองอาจจะไม่ค่อยถนัดในการที่จะแสดงพฤติกรรม หรือ มีความคิดการแสดงออกตามบุคคลต้นแบบ แต่ถ้าเราตามติดชีวิตเค้า และมีการฝึกฝนบ่อย ๆ เราจะสามารถแสดงศักยภาพ หรือมีแนวคิดที่ไม่ต่างไปจากบุคคลต้นแบบในเรื่องที่เราเลือกที่จะเลียนแบบเค้าอย่างแน่นอน เคล็ดลับคือต้องทำเป็นพฤติกรรมซ้ำ ๆ ติดต่อกันอย่างน้อยสามเดือน

 

4. กระบวนการจูงใจ (motivation)

ตัวเราเองนั้นบางครั้งก็ต้องมีการกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจของเราเองขึ้นมา สิ่งเดียวที่จะทำให้แรงจูงใจของเราสูงและมีความพยายามในการหาค้นต้นแบบและเลียนแบบเค้าอย่างมีความอดทนและพยายามคือ การที่เราต้องการมีงานทำในสิ่งที่เราต้องการ ได้เป็นผู้ที่ถูกคัดเลือกเป็นคนแรกในการสมัครงานในตำแหน่งที่เราต้องการ ด้วยเหตุผลเดียวนี้ที่เราจะสามารถกระตุ้นศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเราออกมาได้อย่างแน่นอน

  •