รูปวิศวกร 2 คน

ผู้เขียนเรียบเรียงจากประสบการณ์ทั้งการเป็นผู้ถูกสัมภาษณ์และผู้สัมภาษณ์เองในสาขาวิศวกรรม มาหลายกรณีศึกษา บาง case ผู้สมัครมี Profile ที่ดี แต่ไม่สามารถผ่านด่านได้เนื่องจากบุคลิกบางประการ หรือบาง case สามารถผ่านเข้ามาทำงาน แต่กลับไม่สามารถอยู่ในองค์กรนั้นได้จริง เรียกว่าผิดฝาผิดฝั่งกันทั้งผู้รับและผู้สมัคร

 

คำว่าการทำงานแท้ที่จริงแล้วเราควรทำงานที่มีความยากและความท้าทายอยู่ในวิสัยที่ขีดความสามารถของเราในขณะนั้น “เอื้อมได้ถึง” ผู้เขียนใช้คำว่า “เอื้อมได้ถึง” เหตุเพราะ งานที่ง่ายเกินไปหยิบมาทำได้เลยนั้นไม่เกิดประโยชน์ในระยะยาวแก่ตัววิศวกรเองเลย เพราะอย่าลืมว่าเราอาจต้องทำงาน 10 หรือ 20 ปี หรือมากกว่านั้นการเสียเวลากับงานที่ง่ายเกินไปจะทำให้เสียโอกาสในการพัฒนาประสบการณ์ ส่วนการเลือกทำงานที่ยากเกินไปจากขีดความสามารถเราแล้วเราก็อาจพัฒนาไม่ได้ และจะท้อแท้ใจ สุดท้ายจบที่การต้องเปลี่ยนงานซึ่งเป็นการสูญเสียเวลาของตัววิศวกรนั้นเอง

 

การเลือกงานที่เหมาะสมและความกังวลขั้นต้น

 

มีวิศวกรจบใหม่ไม่น้อยที่เรียนจบในสาขาที่ตัวเองไม่ถนัด เพราะเหตุว่าเราปักธงไว้ก่อนว่าต้องเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์นั้นๆ มหาวิทยาลัยนี้ๆ ไว้ก่อนเนื่องจากสามารถหางานวิศวะได้ง่าย แต่เมื่อเราเรียนแล้วเราก็อาจจะพบว่านี่ไม่ใช่สาขาที่เราอยากทำสักเท่าไหร่ ดังนั้นในกรณีเลือกงานเรามีโอกาสมากขึ้นที่จะเลือกสมัครงานในสาขาที่เราพอถนัด ไม่ยาก ไม่ง่ายเกินไป อยู่ในวิสัยที่ “เอื้อมได้ถึง” อย่าเพิ่งกังวลว่าจะไม่ได้งาน เพราะการได้งานที่ไม่ตรงกับจริตเรานั้น ลำบากกว่าในระยะยาว

 

เมื่อเลือกสาขาที่อยากทำได้แล้ว เช่น อยากทำงาน ซ่อมบำรุง งานพัฒนาผลิตภัณท์ งานควบคุมคุณภาพ ทีนี้ก็เลือกบริษัท คำแนะนำสำหรับการเลือกบริษัททำงานของผู้จบใหม่สำหรับผู้เขียนคือ เลือกบริษัทที่ให้โอกาสคนรุ่นใหม่  อย่าเพิ่งสนใจผลตอบแทน, 3-7 ปีแรกในชีวิตการเป็นวิศวกรนั้น ประสบการณ์สำคัญที่สุด

 

ผู้สมัครส่วนใหญ่เป็นกังวลกับสถาบันที่เรียนจบมา และ เกรด ผู้เขียนขอบอกตรงนี้ว่า เราไม่รู้หรอกว่าบริษัทที่เราจะสมัครนั้นเขาดูที่สถาบันหรือเกรดมั๊ย และเราควบคุมเขาไม่ได้ ดังนั้นอย่าไปกังวล อย่าลืมว่า เรากำลังจะทำงานกับบริษัทที่ให้โอกาส หากบริษัทนั้นเขาจะไม่รับเราเพราะเกรดและสถาบันจริงๆ นั่นก็ไม่ใช่บริษัทที่น่าทำงานด้วยสักเท่าไหร่หรอกจริงมั๊ยครับ

 

การเตรียม Resume

 

เลือกวิธีทำ Resume ที่สุภาพและให้เกียรติ ผู้อ่านไว้ก่อน ผู้เขียนทราบว่ามีเวปไซด็ที่สามารถสร้าง Resume สวยๆขึ้นมาได้ง่าย นั่นก็ดี แต่เหนืออื่นใด HR และ แผนกต้นสังกัดเขาอ่านเนื้อหา และ ความตั้งใจมากกว่า ตัวอย่างเช่น รูปถ่ายต้องชัด และ ไม่จำเป็นต้องถ่ายชุดครุย อย่าแต่งรูปเลยไม่มีความจำเป็นเพราะเมื่อเจอกันตอนถูกสัมภาษณ์จะ surprise กันเสียเปล่าๆ การส่ง resume ตรงเข้าที่ HR ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะเข้าถึงผู้กรองใบสมัครขั้นต้นได้จริงๆ  ข้อควรคำนึงในการเขียน Resume คือ อย่าเขียนความสามารถเกินจริง เพราะผู้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่ล้วนมีประสบการณ์เขาดูออกว่าอะไรจริงอะไรแต่งแต้มขึ้นมา การเลือก resume ส่วนใหญ่มาจากความประทับใจในการเขียนเนื้อหาที่เรียบง่ายมากกว่า

 

เตรียมตัวเมื่อถูกเรียกสัมภาษณ์

 

สำหรับบางคน การถูกเรียกสัมภาษณ์อาจจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่บางคนอาจลำบากหน่อยเพราะ profile ที่ต่างกัน แต่ไม่ว่าอย่างไร การไปสัมภาษณ์งานนั้นเป็นการวัดกันจริงๆว่าบริษัทเขาจะรับเราหรือไม่รับเราเข้าทำงาน ผู้เขียนมีคำแนะนำเล็กน้อยๆ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

 

การแต่งกาย : แต่งสุภาพ แต่งอย่างผู้จบวิศวะ ไม่ใช่แต่งอย่างผู้กำลังเรียนวิศวะ ผู้เขียนเข้าใจดีถึงบุคลิคการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยที่ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องเครื่องแบบนัก แต่สำหรับการสัมภาษณ์งานที่บริษัทเขาไม่รู้จากเรา การแต่งกายของเราก็เปรียบเสมือนปกหนังสือสักเล่ม หากปกดูดีน่าสนใจ การเปิดอ่านก็จะตามมา

 

เตรียมสมุดจดเล็กๆไปด้วย : แน่นอนระหว่างการสัมภาษณ์ จะต้องมีการถาม การตอบ หรือ แม้แต่การนัดหมายเพื่อสัมภาษณ์รอบถัดๆไป การที่เราจดโน๊ตที่ผู้บริหารอธิบายลงในเศษกระดาษต่างๆ หรือ บิลจาก 7/11 เป็นการปิดประตูแห่งโอกาสให้ตัวเองโดยไม่จำเป็นเลย

 

เรียนรู้สักเล็กน้อยถึงบริษัทนั้น : อ่านข้อมูลก่อนว่าบริษัทนั้นทำอะไร ขายอะไร ขายให้ใคร รวมถึงเมื่อเข้าไปในบริษัทก็พยายามสังเกตุสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวเราเข้าไว้ พักการจ้อง smart phone เอาไว้ก่อน ปิดเครื่องเลยก็ยิ่งดี

 

ไปถึงก่อนเวลา : สัก 15 นาทีอย่างน้อย เมื่อเริ่มเข้าสู่การทำงานนั้น ความเป็นมืออาชีพวัดกันที่ commitment ซึ่งนั่นรวมถึงการตรงต่อเวลาด้วย และหากการไปให้ตรงเวลามันเสี่ยงล่ะก็ ไปก่อนเวลาดีที่สุด

 

ข้อปฏิบัติระหว่างการสัมภาษณ์

 

วิศวกรเป็นตำแหน่งที่บริษัทมีความคาดหวังต่อตัวบุคคล ดังนั้นเราอาจพบว่ามีผู้สัมภาษณ์เรามากกว่า 1 คน จึงควรระมัดระวังการตอบคำถามให้มาก เราตอบในลักษณะให้ผู้สัมภาษณ์เราฟังทุกคน เพื่อดึงความสนใจของผู้สัมภาษณ์เอาไว้ บางครั้งผู้บริหารอาจเริ่มรุมระดมคำถามใส่เรา เคล็ดลับเล็กๆน้อยคือ จดโน๊ตคำถามลงในสมุดที่เราเตรียมไว้น่ะแหละ และ หากจำเป็นก็ถามทวนเพื่อให้เข้าใจคำถามจริงๆก่อนตอบ หากเราไม่รู้คำตอบ ให้บอกตามตรงว่า เรายังไม่ทราบเรื่องนั้นๆในตอนนี้ หากเป็นคำถามเชิงประสบการณ์ของเรา หรือ ด้านเทคนิค พยายามตอบคำถามในเชิง “ข้อเท็จจริง” มากกว่า “ความคิดเห็น” ผู้บริหารมักฟังออกหากเรามั่วออกมาและเราจะเสียเครดิต

 

ในช่วงท้ายๆของการสัมภาษณ์ อาจจะพบกว่าผู้บริหารขอให้เราถามคำถาม นี่เป็นโอกาสสำคัญอีกโอกาสหนึ่งที่จะแสดงว่าเราให้ความสนใจในตัวงานและบริษัท พยายามตั้งคำถามกลับไปอย่างน้อย 3 คำถาม การบอกว่า ไม่มีคำถาม เท่ากับเป็นการบอกว่าไม่สนใจงานนั้นๆเลย

 

สิ่งสำคัญที่สุด พยายามเป็นตัวของตัวเอง สูดลมหายใจลึกๆ ผ่อนช้าๆ หากพบว่ากำลังตื่นเต้น.
บทส่งท้าย การตัดสินใจเลือกงาน

 

หากเราโชคดีมีบริษัทเลือกรับเราเข้าทำงานมากกว่า 1 บริษัท เราจะเลือกอย่างไร? ตรงนี้ผู้เขียนตอบแทนยาก แต่คำแนะนำที่อยากฝากไว้คือ เลือกงานที่ “เอื้อมได้ถึง” และ เป็นบริษัทที่ให้โอกาสเราก่อน แต่หากเรามีบริษัทแบบนั้นมากกว่า 1 แล้วล่ะก็เราโชคดีมากจริงๆ ทีนี้จะเลือกบริษัทไหนก็ได้ล่ะครับ

  •